ต้องบอกก่อนว่าหนังใด ๆ ก็ตามที่ไม่ได้ผลิตจากสัตว์ล้วนเป็นวีแกนทั้งสิ้น แต่เราจะขอลงรายละเอียดกันอีกนิด เพราะหนังวีแกนแต่ละประเภทก็มีเลเวลความรักโลกไม่เท่ากัน หนังวีแกน (Vegan Leather) สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
หนังวีแกนประเภทนี้ผลิตจากเส้นใยพืชที่ผสมรวมกับยางสังเคราะห์โพลียูรีเทน (Polyurethane หรือ PU) เป็นประเภทที่รักโลกที่สุด เพราะย่อยสลายง่าย และใช้สารเคมีตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด
แต่หนังวีแกนที่ทำจากพืชก็มีกรรมวิธีการผลิต และความคงทนที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับตัวพืชที่เป็นวัตถุดิบหลัก และในตลาดตอนนี้พืชผักผลไม้ที่มีการนำเส้นใยมาผ่านกรรมวีธีให้เป็นหนังก็มีหลากหลายมาก ๆ ได้แก่ เส้นใยต้นกระบองเพชร เส้นใยสัปปะรด ธัญพืช ข้าวโพด เปลือกแอ้ปเปิ้ล เปลือกไม้ หรือแม้แต่ดอกไม้ ก็สามารถนำมาแปรรูปให้กลายเป็นหนังได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หนังวีแกนที่ทำจากพืชผักผลไม้เหล่านี้ แม้จะมีสินค้าออกมาวางขายบ้างแล้ว แต่ตัวหนังที่เป็นวัสดุ (raw material) ยังไม่มีการวางขายอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นนวัตกรรมใหม่ที่เพิ่งคิดค้นสำเร็จ แต่ในอนาคตหากมีการผลิตอย่างแพร่หลายแล้ว เชื่อว่าผู้คนจะหันมาใช้กันมากขึ้นอย่างแน่นอน
2. faux leather/artificial leather
หนังวีแกนประเภทหนังสังเคราะห์ตรงตัวตามชื่อ ผลิตจากการอัดฉีดสารเคมี ซึ่งก็คือสารประกอบพลาสติกลงบนพื้นผิวของเส้นใยผ้าเพื่อให้มีลักษณะเหมือนหนัง หนังเทียมหรือหนังวิทยาศาสตร์นี้สามารถแบ่งย่อยได้อีก 3 ชนิด ได้แก่
2.1 PVC (Polyvinyl Chloride) โพลีไวนิลคลอไรด์
หนังเทียมที่สายวีแกนหลาย ๆ คนหลีกเลี่ยง เพราะส่วนประกอบของเคมีที่ใช้ เป็นสารที่ทำอันตรายต่อทั้งสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม (dioxin, phthalates, vinyl chloride, ethylene dichloride, cadmium and organotin) เพราะนอกจากจะสามารถออสโมซิสสารพิษเข้าสู่ผิวมนุษย์ได้แล้ว ทั้งวงจรการผลิต และการทำลาย ต่างสร้างสารพิษที่กลายไปเป็นมลภาวะทางอากาศ ทางน้ำ และส่งผลต่อสัตว์ เป็นสิ่งที่แทบจะย่อยสลายไม่ได้เลย
แม้พีวีซีจะมีข้อดีคือความทนทาน อายุการใช้งานที่ยาว ทำความสะอาดง่าย และมีราคาถูก ทำให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ในวงการแฟชั่น หลาย ๆ แบรนด์ก็ได้หลีกเลี่ยงที่จะใช่วัสดุชนิดนี้ บางประเทศถึงกับห้ามไม่ให้เอาพีวีซีเข้าประเทศกันเลยทีเดียว
2.2 PU (Polyurethane) โพลียูลีเทน
หนังพียูผลิตจากการนำพอลิเมอร์เรซิ่นที่มีความยืดหยุ่นเคลือบลงบนเส้นใยผ้า มีความยืดหยุ่นกว่าพีวีซี ทำให้หนังพียูไม่ต้องใช้พลาสติกไซเซอร์ (Plasticizers) ซึ่งเป็นเคมีอันตราย หนังพียูจึงทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เหมาะสำหรับผลิตกระเป๋า รองเท้า และสินค้าอื่น ๆ ที่มนุษย์หรือสัตว์จะสัมผัสโดนโดยตรง
พียูเป็นหนังวีแกนที่ใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อย แม้หนังพียูมีอายุการใช้งานน้อยกว่าหนังพีวีซีเพราะไม่มีพลาสติกไซเซอร์ แต่ข้อดีของหนังพียูก็คือ มีเนื้อสัมผัสกับลวดลายที่เหมือนหนังแท้ เป็นมิตรต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม และราคาไม่แพง จึงทำให้หลาย ๆ แบรนด์หันมาใช้หนังพียูแทนหนังแท้
2.3 Microfiber leather
หนังไมโครไฟเบอร์ผลิตจากการเคลือบโพลิยูลีเทนเรซิ่นคุณภาพสูง ลงบนเส้นใยที่ไม่ได้ผ่านการทอ แต่เกิดจากการนำเส้นใยผ้าไปต่อกันด้วยเคมีและความร้อน ทำให้ได้หนังคุณภาพสูงที่มีความทนทาน และเนื้อสัมผัสนุ่มยืดหยุ่นเหมือนหนังแท้ ไมโครไฟเบอร์เป็นหนังที่พัฒนาจากหนังพียู เพื่อแก้ pain point ในเรื่องความทนทาน โดยหนังวีแกนชนิดนี้มีอายุการใช้งานได้ถึง 5-10 ปี แล้วยังมีข้อที่ได้เปรียบหนังแท้ในเรื่องกลิ่น ทุกท่านที่เคยใส่รองเท้าหนังแท้คงทราบดี ว่ากลิ่นที่เกิดจากการสวมใส่ไม่น่าอภิรมย์แค่ไหน ด้วยหนังแท้ไม่ระบายอากาศ และหนังสัตว์ย่อมมีกลิ่นเฉพาะตัว แต่หนังไมโครไฟเบอร์ไม่มีกลิ่นในตัวเอง ทำให้แม้สวมใส่แล้วก็ไม่มีกลิ่นรบกวน
หนังไมโครไฟเบอร์เป็นหนังวีแกนที่หลาย ๆ แบรนด์เลือกใช้ แม้จะมีราคาสูงกว่าหนังพียูเท่าตัว แต่เพราะคุณสมบัติที่เป็นเลิศ และปราศจากความรุนแรงต่อสัตว์ จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่หาหนังคุณภาพดีมาใช้แทนหนังแท้
อย่างไรก็ดีมีคนจำนวนมากคิดว่าการใช้หนังที่ผ่านกรรมวิธีเคมีเหล่านี้ ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมากกว่าการใช้หนังที่ทำจากสัตว์ แอดมินจึงอยากนำเสนอข้อมูลในอีกแง่มุม ว่าในอุตสาหกรรมหนังแท้ก็มีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน
อย่างที่ทุกคนทราบดีว่าการทำปศุศัตว์เป็นปัจจัยอันดับต้น ๆ ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนโดยตรง เพราะสัตว์ใช้ทรัพยากรเยอะมากกว่าจะเติบโตพร้อมใช้งาน ทั้งน้ำและอาหารที่สัตว์บริโภคมีกระบวนการผลิตแบบไหน มีที่มาอย่างไร และเมื่อถลกหนังแล้วการฟอกหนังก็มีการใช้สารเคมีเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อพูดถึงการใช้หนังวีแกนทดแทนหนังสัตว์ ก็ไม่ได้รักษาแค่ชีวิตของสัตว์เพียงอย่างเดียว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเลือกใช้หนังชนิดไหน การบริโภคที่มากเกินพอดีก็ทำลายธรรมชาติมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นแอดมินว่าเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับเรา และลดการเพิ่มขยะที่ไม่จำเป็นลง ทำสิ่งที่เราทำได้เท่านี้ก็เพียงพอแล้วค่ะ
หวังว่าทุกท่านจะได้ประโยชน์เรื่องหนังวีแกนไม่มากก็น้อย โอกาสหน้าแอดมินจะมาเล่าถึงหนังพียู และหนังไมโครไฟเบอร์ที่ร้านจงเฮงเลือกมาจัดจำหน่าย ว่าเรามีหลักเกณฑ์อะไรบ้างค่ะ
#veganleather #PlantBasedLeather #pvcleather #puleather #MicrofiberLeather #หนังวีแกน #หนังพีวีซี #หนังพียู #หนังไมโครไฟเบอร์ #หนังสังเคราะห์